Post by

Sam Yuta

จดบันทึกสิ่งที่เรียนรู้จาก Principles of Economics ตอนที่ 3

Published on

YakiHonne

Jan 16, 2024

Chapter 6 - Capital Chapter 7 - Technology Chapter 8 - Energy and Power

Chapter 6 - Capital

Capital ทรัพย์สินประเภททุน ต่างจากสินค้าอุปโภคบริโภค มันคือสินค้าที่ใช้ในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ อีกที เช่นเครื่องจักร อาคาร หรือรถยนต์ที่เป็นได้ทั้งสองอย่าง ขับเที่ยวก็ได้ขับหาเงินก็ได้

Capital ช่วยทำให้สังคมก้าวหน้าขึ้นในการผลิตสินค้าจำเป็นเช่น เราสามารถผลิตเสื้อผ้าไว้ล่วงหน้า หรือในการสร้างความสามารถของบริการต่างๆ ที่ใช้เวลาในการสร้างความเชี่ยวชาญเช่น แพทย์ นักกฏหมาย

การสร้างหรือสะสม Capital good นั้นต้องใช้เวลาและความอดทน โดยเริ่มต้นจากการต้องประหยัดการบริโภคอื่นๆ เพื่อใช้มันสร้างประสิทธิภาพในการผลิตในระยะยาว เช่นเบ็ดตกปลา หรือเรือหาปลา การที่คนจะสร้างเครื่องมือเหล่านี้ได้ต้องยอมเสียสละเวลา หาปลาด้วยมือเปล่าน้อยลง หรือเสียสละเวลาพักผ่อน เอาเวลามาใช้สะสมวัตถุดิบและสร้างอุปกรณ์ เบ็ดตกปลาหรือเรือ เพื่อจะหาปลาได้มากขึ้นกว่าการใช้มือเปล่าในระยะยาว

ในปัจจุบันเงินทุนมักมาจากการอดออมของ investor ทำให้บางทีเรามองข้ามความจำเป็นของความอดออมไป

image

ทรัพย์สินทุน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยเวลาที่ผ่านไป ชีวิตและการดำรงอยู่ของผู้คนก็ดีขึ้น

Capital good ทรัพย์สินทุนอาจไม่คงทนตลอดไป อาจเสียหายจากภัยพิบัติหรือการใช้งาน ต้องการการบำรุงรักษา หรือในอนาคตอาจมีทรัพย์สินใหม่ที่ดีกว่าทำให้ของเก่าหมดค่า หมดประโยชน์ไปได้

แม้การสะสม Capital good และเอามาใช้งานในการผลิต อาจจะยาก แพง มีความเสี่ยงที่จะล้มเหลว ทำแล้วสู้คนอื่นไม่ได้ หรือช้าเกินไป แต่การไม่มีการสะสมทุนไม่มาลงทุนทำอะไรให้พัฒนาขึ้นเลย อาจจะทำให้สภาพชีวิตแย่ยิ่งกว่า

เศรษฐกิจแบบเคนเซียนและมาร์กซิสที่ไม่เข้าใจในความสำคัญของการอดออมเพื่อสร้างทรัพย์สินทุน และไปให้ความสำคัญกับการขยายเครดิต ผลิตเงินเพิ่มมาเป็น Capital ซึ่งจะส่งผลเสียตามมาอย่างมากมาย เคนเซียนไม่ต้องการให้คนเก็บเงิน แต่ต้องการให้คนใช้จ่าย ไม่สนใจ time prefrence เพราะ ”เดี๋ยวเราก็ตายกันหมดอยู่แล้ว” และให้รัฐวัดผลงานทางเศรษฐกิจในรูปของการใช้จ่าย เปิดช่องให้รัฐเป็นผู้ให้ Capital แทนการอดออมของผู้คน ส่วนมาร์กซิสไม่อนุญาตให้คนเก็บออมได้

ทรัพย์สินทุนไม่สามารถสร้างได้ทันที ทำให้ต้องอาศัยความเข้าใจใน time preference เห็นคุณค่าของการลงทุนเพื่ออนาคต เมื่อประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น เราใช้เวลาทำงานน้อยลง และมีเวลาสำหรับ Leisure มากขึ้น

Chapter 7 - Technology

อีกรูปแบบนึงของทุนคือ เทคโนโลยี ไอเดีย สูตร หรือสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถมีอยู่ได้ไม่จำกัด (ยกเว้นถูกจำกัดด้วยสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์) แต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้

หลายคนมักจะคิดว่าเทคโนโลยีจะทำให้คนตกงาน แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นคนจะสามารถย้ายไปสู่งานใหม่ได้เสมอ และมันยังทำให้ประสิทธิภาพและสภาพการทำงานดีขึ้นด้วย ความต้องการในแรงงานไม่เคยหายไป แต่เปลี่ยนแปลงไป เปลี่ยนงานที่ทำ ในอดีตเราอาจใช้แรงงานทาส แต่เมื่อถึงจุดนึงที่เทคโนโลยี และการใช้พลังงานที่ดีขึ้นเข้ามาแทน การมีแรงงานทาสก็ลดความสำคัญลง สุดท้ายก็ทาสหายไป

image

เทคโนโลยีสามารถถูกแชร์ และทำซ้ำได้ โดยไม่ทำให้คุณค่าของมันหายไป ยิ่งทำให้ทุกอย่างพัฒนาอย่างรวดเร็ว เมื่อคนหลายคนช่วยกันคิดค้นไอเดียและสร้างเทคโนโลยี

เทคโนโลยีในอดีตส่วนใหญ่พัฒนาขึ้นเพราะบุคคลต้องการเอาชนะตลาดด้วยสินค้าที่ดีกว่า จึงทำให้มีแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในการคิดเทคโนโลยีมากกว่าทางสายวิชาการ

Software เป็นตัวอย่างของเทคโนโลยีที่พัฒนาจากความต้องการควบคุมเครื่องจักร ซึ่งภายหลังกลายมาเป็นการวิวัฒนาการที่ก้าวกระโดดของทุกอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจเอง

ไอเดียและเทคโนโลยีไม่ควรนับเป็นสินทรัพย์ เนื่องจากมันไม่ได้มีจำกัด แต่คนสามารถทำให้มันจำกัดได้ โดยการเก็บเป็นความลับ ไม่ให้ผู้อื่นเลียนแบบได้ หรือใช้รัฐปกป้องมันโดยกฏหมายทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งส่งเสริมการนำไปสู่การผูกขาด และบริษัทก็จะไปโฟกัสกับการสร้างสิทธิบัตรมากกว่าการทำสินค้าที่มีคุณค่าจริงออกมาสู่ตลาด

Chapter 8 - Energy and Power

พลังงานควรจะเป็นหัวข้อสำคัญเวลาพูดถึงเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากการใช้พลังงานมีความสำคัญต่อแรงงาน และการสะสมทุน มนุษย์ได้รับพลังงานจากอาหารและแสงอาทิตย์ ซึ่งทำให้มนุษย์มีพลังในการคิดและพลังทางกายภาพ เครื่องจักรก็ใช้พลังงานเช่นกันแต่ในรูปแบบต่างไป

การใช้พลังงานผ่านเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ทำให้มนุษย์มีชีวิตรอดและมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น การใช้พลังงานในการขนส่งระยะทางไกล ถ้าใช้แรงงานมนุษย์จะใช้พลังงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าม้า และรถที่อาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่ามนุษย์หลายพันเท่า ซึ่งช่วยลดเวลาการทำงานของมนุษย์และส่งผลถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ

การใช้พลังงานของมนุษย์ได้พัฒนาต่อเนื่องตั้งแต่สมัยโบราณ แสงอาทิตย์ แม่น้ำ ในการปลูกพืชสร้างอาหาร ใช้แรงงานสัตว์ กังหันลม/น้ำ ไม้ฟืน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ จนถึงพลังงานนิวเคลียร์ ทุกยุคสมัยเราเปลี่ยนไปใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นเรื่อยๆ

image

พลังงานในโลกนี้มีอยู่อย่างไม่จำกัด ด้วยเทคโนโลยีที่ดีขึ้นทำให้เรามีประสิทธิภาพในการค้นหาพลังงานได้มากขึ้น ถ้าดูข้อมูลย้อนหลังจะเห็นได้ว่าปริมาณสำรองน้ำมันมีแต่จะเพิ่มขึ้น เพราะเราค้นหาได้มากขึ้นเรื่อยๆ ตามความสามารถที่ดีขึ้น

ด้วยความที่มันมีไม่จำกัด พลังงานจึงไม่ควรนับเป็นสินค้าทางเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากมันต้องมีคนลงแรงค้นหามัน ผลิต ขนส่ง หรือแปรรูป เพื่อให้มันใช้ได้สะดวก ทำให้พลังงานกลายเป็นของมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ความขาดแคลนพลังงานจะเกิดจากค่าเสียโอกาสในการทำสิ่งอื่นที่มีผลตอบแทนสูงกว่า

ในสังคมทันสมัยแบบปัจจุบัน เราพึ่งพาพลังงานจาก hydrocarbon เป็นอย่างมาก ทั้งเครื่องจักร ขนส่ง และการผลิตไฟฟ้าที่ช่วยให้การผลิตมีประสิทธิภาพ ปริมาณการบริโภคพลังงานมีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตและความเจริญรุ่งเรืองของสังคม ตัวอย่างเช่นเรือเครื่องจักรไอน้ำ พัฒนาไปใช้ถ่านหินหรือ hydrocarbon ชนิดอื่น

ข้อดีของ hydrocarbon คือมันพร้อมใช้ และให้พลังงานสูงเมื่อเทียบกับปริมาตร ซึ่งเป็นข้อจำกัดของพลังงานที่จะมาทดแทนอย่างลม หรือ solar cell เพราะเราควบคุมธรรมชาติไม่ได้ ทำให้ต้นทุนของพลังงานทดแทนเหล่านี้มีราคาสูง ยิ่งรัฐผลักดันก็จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อจากค่าใช้จ่ายพลังงาน

ในยุคที่มนุษย์ไม่มีพลังงาน ไม่มีเทคโนโลยี ผลผลิตของมนุษย์แต่ละคนต่ำมาก ทำให้แรงงานมนุษย์แม้เพียงไม่กี่คนก็มีคุณค่า นำไปสู่การบังคับและการเป็นทาส เมื่อมีเทคโนโลยีและการใช้พลังงานแทนแรงงานคน ทำให้ได้ประสิทธภาพมากกว่า การเป็นทาสก็หมดความสำคัญ

คนจะมีอิสระในการเต็มใจทำงานแลกค่าตอบแทนมากกว่าถูกบังคับแบบทาส ยกเว้นก็แต่ในบางสังคมที่ยังใช้พลังงานน้อยอยู่ รวมถึงความเท่าเทียมทางเพศของผู้หญิงก็เช่นกัน เมื่อเครื่องจักรทำในส่วนที่ต้องออกแรงไปแล้ว ผู้หญิงก็มีความสามารถที่จะมาแข่งขันกับผู้ชายในงานด้านความคิดได้

** จบ part ที่ 2 Economy ครับ รอติดตามตอนต่อไปครับ

0

6
0
210