Post by

Sam Yuta

จดบันทึกสิ่งที่เรียนรู้จาก Principles of Economics ตอนที่ 6

Published on

YakiHonne

Jan 24, 2024

Chapter 13 - Time Preference Chapter 14 - Credit and Banking

คราวก่อนจบไว้ที่ Markets -> Capitalism ตอนที่ 5 มาต่อกันที่ส่วนต่อไปครับ

Part IV - The Monetary Economics

Chapter 13 - Time Preference

รัฐมักจะสนันสนุนตำราเศรษฐศาสตร์ที่มองว่าวิกฤตเศรษฐกิจเป็นเรื่องปกติ เป็นวัฏจักรที่เลี่ยงไม่ได้ และต้องได้รับการจัดการโดยรัฐผ่านนโยบายการเงิน นโยบายการคลังที่คิดว่าฉลาด และมักจะประณามสายออสเตรียนไม่ใช่เพราะมันผิด แต่แค่เพราะว่ามันเสนอความเป็นไปได้ที่เงิน และเศรษฐกิจจะสามารถดำเนินไปได้โดยไม่ต้องมีรัฐ ซึ่งมันเป็นภัยคุกคามต่อคนที่ได้ประโยชน์จากการมีรัฐคุมอำนาจเงิน

หลักการแรกของออสเตรียนเริ่มจาก time preference ความขาดแคลนเวลา บังคับให้ผู้คนต้องเลือกทางเลือกต่างๆในชีวิต ทุกการตัดสินใจมีค่าเสียโอกาส เพราะเวลาไม่สามารถย้อนกลับ เวลาของมนุษย์เริ่มเดินตั้งแต่เขาเกิด และจะหยุดเมื่อเขาตายเท่านั้น แต่ไม่มีใครรู้ว่ามันจะหยุดเมื่อไหร่ มีโอกาสครั้งเดียว ไม่มีการเริ่มต้นใหม่

เราไม่สามารถเลือกปริมาณเวลาที่ต้องการได้ และเราไม่สามารถซื้อขายเวลาโดยตรงได้ ยิ่งเวลาใกล้ปัจจุบันเท่าไหร่ มันดูเหมือนยิ่งมีค่า เพราะปัจจุบันเป็นสิ่งที่แน่นอนกว่าอนาคต ที่อาจจะไม่มีวันมาถึง อนาคตเกิดขึ้นได้จากการเอาตัวรอดในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ความต้องการของปัจจุบันมีความเร่งด่วนและสำคัญเสมอ เราสัมผัสความสุขความทุกข์ในปัจจุบันได้ แต่ความสุขอนาคตเป็นเพียงสิ่งสมมติ ความหิว ความปลอดภัยในวันนี้ย่อมมีความสำคัญกว่าอนาคต

time preference คือระดับความพอใจของบุคคลกับสินค้าหรือบริการในวันนี้ มากกว่าสินค้าหรือบริการในอนาคต ซึ่งแตกต่างกันระหว่างบุคคล สถานการณ์ และปัจจัยภายนอกอื่นๆอีกมาก

ถ้าค่าสูง high time preference คือ ความพอใจในการบริโภคในอนาคตลดลงอย่างมาก มุ่งเน้นปัจจุบัน มากกว่าเก็บออมเพื่ออนาคต
ถ้าค่าต่ำ low time preference คือการลดค่าของอนาคตมีน้อย มุ่งเน้นอนาคตมากขึ้น

เริ่มต้นในวัยเด็กอาจจะขาดความเข้าใจ ไม่ได้คิดถึงอายุขัย อนาคตที่ล่าช้า เด็กจึงมักจะชอบความพึงพอใจที่ได้รับในปัจจุบันมากกว่า เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ความเข้าใจเกี่ยวกับอายุขัยมีมากขึ้น เข้าใจถึงประโยชน์ของสินค้าในอนาคต ซึ่งจะไปกระตุ้นการออมการลงทุน time preference จะเริ่มลดลง

เมื่อเข้าสู่วัยชราประโยชน์ของสินค้าในอนาคตจะลดลง เนื่องจากอนาคตเหลือเวลาน้อย ยกเว้นแต่ว่ามีผู้สืบสกุลเราอาจจะยังคง time preference ในระดับผู้ใหญ่ไว้ได้ เพราะมีมุมมองของเวลาที่เหลืออยู่ของคนอื่นเข้าเพิ่มมาด้วย

image

ปัจจัยอีกอย่างที่มีผลต่อ time preference คือความมั่นคงของทรัพย์สิน บุคคลที่ครอบครองทรัพย์สิน หรือสินค้าที่มูลค่าไม่ลดลงในอนาคต จะสามารถลดความไม่แน่นอนของอนาคตลง และส่งผลให้มี time preference ที่ต่ำลงได้

เงินเป็นสินค้าที่มีความคล่องตัวสูงที่สุดในการแลกเปลี่ยนคุณค่าในอนาคต เนื่องจากไม่รู้ว่าเราจะต้องการอะไรในอนาคต การสะสมเงินจึงเป็นการเตรียมความพร้อมที่ดี เพราะมีความคล่องตัวในการเปลี่ยนเป็นสินค้าหรือบริการ ดูเพิ่มเติมในเรื่องเงินบทที่ 10

เงินที่สร้างเพิ่มได้ง่ายในปริมาณมาก เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด จะมีมูลค่าที่ลดลง อำนาจการซื้อลดลงในการเก็บรักษาในระยะยาว นำไปสู่สภาวะเงินเฟ้อ

ในทางกลับกัน เงินที่สร้างเพิ่มได้ยาก จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นน้อยในขณะที่ความต้องการเพิ่มขึ้น ทำให้มันดีกว่าในแง่การรักษามูลค่า ความมั่งคั่งส่วนใหญ่จะไปสะสมที่เงินสร้างยากที่สุด ซึ่งสามารถอธิบายได้โดยสิ่งที่ใช้เป็นเงินในอดีต หอยเชลล์ ลูกปัด เหล็ก ทองแดง ก่อนถูกแทนที่ด้วยทองคำ แม้แต่เงินธนบัตรในปัจจุบันที่มูลค่าลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับทองคำ

เงินถูกใช้งานได้ 3 แบบ 1) แลกเปลี่ยนกับสินค้าบริโภค 2) เก็บสะสมไว้ 3) แลกเปลี่ยนเป็นสินค้าทุน ซึ่งการลงทุนอาจจะได้กำไรเพิ่ม แต่มันมีความไม่แน่นอน จากกิจการและสภาพคล่องในการแลกเปลี่ยนกลับเป็นเงิน เราจึงควรมีเงินออมก่อนนำไปลงทุน

การออมในเงินสด(ที่ดี)ช่วยป้องกันผลกระทบจากเศรษฐกิจหรือสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด หรือแม้แต่เปิดโอกาสให้พร้อมลงทุนในโอกาสที่เข้ามาได้ทันเวลา จึงควรเก็บเงินออมไว้กับตัวเสมอ เพราะเงินสดถูกออมไม่ใช่เพราะผลตอบแทน แต่เพื่อความสะดวกในการเข้าซื้อสิ่งต่างๆ เทียบกับสินค้าที่สภาพคล่องไม่ดีเช่น บ้านที่ใช้เวลาในการขาย จึงจะได้ราคาที่เหมาะสม

เมื่อคนเริ่มสะสมเงินสด ประโยชน์ของมันจะสูงมาก ความสามารถในการแลกเปลี่ยนของมันมีค่ามากกว่าความเสี่ยงและสภาพคล่องจากการลงทุน แต่เมื่อยอดเงินสดสะสมมากขึ้น ประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นจะเริ่มลดลง ความสบายใจจากการมีเงินออมเพิ่มจะเริ่มต่ำกว่าผลตอบแทนจากการลงทุน ยิ่งมีเงินสะสมมากก็ยิ่งรับความเสี่ยงได้มากขึ้น

การออมและการลงทุนไม่ใช่คู่แข่งกัน การลงทุนเป็นผลมาจากการออม การมี time preference ที่ต่ำจะยิ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดการออมการลงทุนที่เพิ่มขึ้น

ภัยพิบัติ ความรุนแรง โจรกรรม อาชญากรรมทำให้ทรัพยากรและสินค้าของแต่ละบุคคลลดลง ทำให้เขาต้องใช้ทรัพยากรในปัจจุบัน เพิ่มความไม่แน่นอนของอนาคต ทำให้คนต้องใช้ทรัพยากรในการป้องกันมากขึ้น ส่งผลให้ความมั่งคั่งโดยรวมลดลง

อาชญากรรมที่กระทำโดยรัฐมีผลกระทบที่สำคัญ และสร้างความเสียหายมากกว่ารายบุคคล เนื่องจากมันถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้การป้องกันตัวเองจากรัฐยากกว่า

การลดค่าเงินเป็นรูปแบบหนึ่งของการละเมิดทรัพย์สิน มีผลที่ทำลายแนวโน้มในอนาคต สกุลเงินจากรัฐที่ผลิตเงินเพิ่ม 14% ต่อปี ทำให้การรักษามูลค่าในอนาคตไม่แน่นอน นำไปสู่ time preference ที่สูงขึ้น เกิดพฤติกรรมบริโภค เพราะเงินมีอำนาจการซื้อที่ลดลงในอนาคต คนจึงต้องการใช้เงินในวันนี้

สิ่งเหล่านี้บิดเบือนแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ บ่อนทำลายความกินดีอยู่ดี ขั้นรุนแรงสุดคือ hyperinflation อย่างในเวเนซุเอลา เลบานอน เยอรมนีช่วงหลังสงครามโลก เมื่อเงินเฟ้อสูงมากคนต้องหาทางรอดในระยะสั้น ลดค่าความสำคัญทุกอย่างในระยะยาว รีบซื้อของทันทีที่มีเงิน และไม่คำนึงถึงคุณภาพของสินค้า เพราะมันอาจจะคงมูลค่าได้ดีกว่าเงินที่พวกเขามีในมือ

ธุรกิจถูกทำลายเพื่อเอาทุนมาใช้จ่ายอย่างอื่น คนหนีไปยังพื้นที่อื่น เกิดอาชญากรรมเพราะไม่สนใจผลในระยะยาว นอกจากเงินเฟ้อแล้วความสามารถของรัฐในการยึดทรัพย์สินประชาชนก็เช่นกัน ส่งผลให้เพิ่มความไม่แน่นอนในอนาคต

การทำลายความสามารถในการออมด้วยเงินเฟ้อ ยังส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมการลงทุน (ทั้งที่ทองคำทำได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย) ที่อัตราผลตอบแทนไม่มีทางสู้เงินเฟ้อได้สำหรับคนจน คนที่มีแนวโน้มจะเอาชนะได้มีแต่คนรวยเท่านั้นที่เข้าถึงทรัพยากรการลงทุนที่ดีกว่า

คุณลักษณะสำคัญของ bitcoin คือ มีปริมาณจำกัดผลิตเพิ่มกว่าที่กำหนดไว้ไม่ได้ และจ่ายเงินข้ามพรมแดนโดยไม่มีใครกำกับดูแล ไม่มีใครมายึดมันได้ ทำให้มันมีโอกาสที่จะรักษามูลค่าในอนาคตได้ดี การเมืองที่ชอบนโยบายเงินเฟ้อก็หยุดยั้งมันไม่ได้ คนจะเริ่มสะสม bitcoin แทนบัญชีเงินออม เพราะมันส่งเสริม low time preference ซึ่งกระตุ้นให้คนเห็นค่าของการออมเพื่ออนาคต

image

Chapter 14 - Credit and Banking

การทำลายระบบการเงิน คือการทำลายพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

เมื่อผู้คนมีการออมการลงทุนเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมธนาคารก็เกิดขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการออม และการลงทุน เช่นมีที่เก็บทรัพย์สินที่ปลอดภัยแลกกับค่าธรรมเนียม ซึ่งดูเหมือนเป็นตลาดที่น่าเบื่อ ไม่น่าสนใจ แต่เมื่อเงินฝากถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดจะเกิดผลกระทบที่น่าสนใจและน่าเศร้าขึ้นกับผู้ออม นั่นคือธุรกิจเครดิต

นอกเหนือจากเก็บเงินออม ธนาคารยังทำหน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือ นำเงินออมของลูกค้าไปลงทุนเพื่อสร้างผลกำไร โดยรับความเสี่ยงจากการใช้เงินของผู้ออมไปสนันสนุนผู้ประกอบการ ธนาคารมีความชำนาญในการจัดสรรเงินลงทุน ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ออมและนักธุรกิจ ช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถลงทุนในธุรกิจที่พวกเขาอาจไม่คุ้นเคยได้

Commodity Credit หมายถึงเงินกู้ที่ออกให้ผู้กู้โดยมีเงินฝากจากผู้ให้กู้รองรับเต็มจำนวน และเต็มช่วงเวลา เช่นเงินฝาก 1 ล้านสัญญา 1 ปีต้องออกเป็นเครดิตเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านและไม่เกิน 1 ปี (หากเกินกว่านั้น จะกลายเป็น Circulation Credit ที่จะนำไปสู่ปัญหาการเพิ่มปริมาณเงินในระบบตามมา)

ความแตกต่างใน time preference ทำให้เกิดการกู้ คนที่ให้กู้มี lower time preference จากการเห็นมูลค่าของเงินต้นและดอกเบี้ยในอนาคตมีค่ามากกว่าการใช้จ่ายในวันนี้ ส่วนผู้กู้มองว่าเงินวันนี้มีค่าสำหรับตัวเขามากกว่าเงินต้นกับดอกเบี้ยในอนาคต

image

มุมมองของเศรษฐศาสตร์แบบเคนเซียนมองว่า อัตราดอกเบี้ยเป็นตัวกำหนดการออม เนื่องจากผู้คนจะเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยแล้วตัดสินใจว่าจะออมหรือไม่ และอัตราดอกเบี้ยนั้นถูกกำหนดจากส่วนกลาง

แต่กับตลาดเสรี ดอกเบี้ยจะถูกกำหนดโดย time preference ของแต่ละบุคคล หน้าที่ของนักลงทุนต้องคิดถึงรายได้ของเขาที่ได้มาจากส่วนต่างของสินค้าที่ได้เพิ่มในอนาคต จากเงินลงทุนของเขา อัตราส่วนระหว่างมูลค่าสินค้าปัจจุบันและมูลค่าสินค้าในอนาคต เรียกว่าดอกเบี้ยต้นทุน

ตัวอย่างเช่น หากคนคาดหวังว่าจะได้รับการจัดส่งข้าวโพด 10 หน่วยวันนี้ เขาจะต้องได้รับค่าพรีเมียมเพื่อจะเลื่อนการรับข้าวโพดไปอีกหนึ่งปีแทน อัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นคือ ดอกเบี้ยต้นทุนและ time preference ของแต่ละคนจะสะท้อนออกมาในค่าพรีเมียมนี้ ถ้าเปลี่ยนข้าวโพดเป็นสินค้าเงิน ค่าพรีเมียมนี้ก็คือดอกเบี้ยทางการเงิน

ดอกเบี้ยทำให้เกิดการสื่อสารภายในตลาดเครดิต ดอกเบี้ยที่ต่างกันมากในตลาดจะถูก arbitage เพราะสินค้าในตลาดคือเงินเหมือนกัน ทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดอยู่ในช่วงที่แคบ

ในขณะที่ความต้องการสำหรับการลงทุนสามารถเติบโตได้ไม่จำกัด แต่เงินทุนที่ได้มาจากการออมนั้นมีจำกัด

ดอกเบี้ยเป็นคนละส่วนกับกำไร กำไรเกิดจากมูลค่าตลาดของสินค้าขาเข้ากับมูลค่าตลาดของสินค้าสำเร็จ ดอกเบี้ยเป็นเพียงการชำระเงินสำหรับปัจจัยเวลาที่นักลงทุนให้ไว้ในกระบวนการผลิต เป็นค่าตอบแทนสำหรับการรอคอยและการรับความเสี่ยง

ผู้ออมแต่ละคนจะมี discount คุณค่าในอนาคตไม่เท่ากัน หากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มมากกว่า discount จำนวนผู้ที่ต้องการกู้จะลดลง ในขณะที่จำนวนผู้ที่ต้องการให้กู้ยืมจะเพิ่มขึ้น vice versa

ในตลาดทุน time preference และความต้องการเงินของทุกคนจะมารวมกัน ทำให้ปริมาณเงินทุนที่พร้อมให้กู้ยืมเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ย และลดลงเมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง ที่จุดสมดุลของอัตราดอกเบี้ย ปริมาณเงินกู้จะเท่ากับปริมาณทุนที่พร้อมให้กู้

เมื่อทุนถูกจัดสรรไปในการเพิ่มการผลิต ผลลัพธ์คือการเพิ่มขึ้นของผลผลิต รายได้ และทรัพย์สินมั่นคง ความมั่นใจในอนาคตเพิ่มขึ้น ทำให้ time preference ลดลงอีก ผู้คนก็อยากจะออมมากขึ้น ลงทุนหรือมีเงินทุนให้กู้มากขึ้น ขณะที่ผู้กู้ยืมลดลง ทำให้ดอกเบี้ยก็จะลดต่ำลง (หากไม่เจอ สงคราม โรคระบาด การปล้นสะดม นโยบายภาครัฐที่ผิดพลาด หรือการบังคับใช้เงินผลิตง่าย) เป็นวงจรที่นำไปสู่ civilization แต่จะมีคำถามว่าดอกเบี้ยจะลดไปได้ต่ำถึงจุดไหน

ดอกเบี้ยไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ที่ถูกนำมาใช้ในสังคม แต่เป็นปรากฏการณ์ที่มีรากฐานมาจากการให้คุณค่าของมนุษย์ และ time preference ของแต่ละบุคคล ดอกเบี้ย (แบบ Commodity Credit) ไม่ใช่สิ่งที่เป็นการเอาเปรียบ ตามที่หลายศาสนาห้ามไว้ แต่มันเกิดจากความสมัครใจทั้งสองฝ่ายในการทำสัญญากัน การบังคับให้ไม่มีดอกเบี้ยจะไม่มีแรงจูงใจให้คนออมเงินเพื่อไปลงทุน คนจะบริโภคทุนสำรองของตัวเอง ผู้กู้ก็ไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนได้ ประสิทธิภาพการผลิตไม่เพิ่มขึ้น นวัตกรรมไม่เกิดขึ้น

image

การเก็บรักษาเงินไม่ว่ารูปแบบใดมีค่าใช้จ่ายเสมอ เช่นตู้เซฟ ค่าธรรมเนียมบัญชีธนาคาร ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้มักจะถูกนำมาเปรียบเทียบกับการให้คนอื่นกู้เพื่ออัตราดอกเบี้ยน้อยๆ จนถึงไม่มีดอกเบี้ย แทนการเก็บเองที่มีต้นทุนในการเก็บ สิ่งนี้อาจจะนำไปสู่การไม่มีดอกเบี้ยโดยธรรมชาติ แต่มันไม่ได้เกิดได้ง่ายเนื่องจากการให้กู้มีความเสี่ยงจากการล้มละลายของกิจการ

ถึงแม้จะมีสัญญาแต่ไม่มีการรับประกันจากการใช้กำลังหรือกฎหมายว่าจะได้รับเงินคืน ล้มคือล้มไม่มีใครมาช่วยเหลือ ซึ่งต่างจากการที่มีองค์กรอุ้มธนาคารด้วยเงินเฟียต จากการล้มละลายที่เกิดจากการลงทุนผิดพลาดของธนาคาร เพราะจุดเริ่มต้นเกิดมาจากเงินสร้างง่ายที่มีเงินเฟ้อ ทำให้การออมเสื่อมค่า time preference และดอกเบี้ยไม่ได้ลดลงโดยธรรมชาติ

ดอกเบี้ยเป็นเสมือนตัวสะท้อนระดับ time preference ของสังคม ศีลธรรม ความฉลาดของประชาชนและวัฒนธรรมของชาติ (แต่การบังคับให้ดอกเบี้ยต่ำกลับให้ผลตรงกันข้าม) การส่งเสริมการออมและปล่อยให้ดอกเบี้ยเป็นไปตามธรรมชาติที่สุดท้ายแล้วมันจะลดลงมาเองโดยธรรมชาติ

** จบตอนที่บทนี้ก่อนครับ คราวหน้ามาต่อครับ

0

0
0
0