ตอนสุดท้ายของหนังสือ Principles of Economics ครับ ค่อนข้างยาวทีเดียว
ทุกตอนก่อนหน้าลองไปหาดูได้ใน profile ผมครับ
ทุกตอนก่อนหน้าลองไปหาดูได้ใน profile ผมครับ
Chapter 17 - Defense
นักเศรษฐศาสตร์ของรัฐมักคิดว่า การป้องกันและการใช้ความรุนแรงนั้นไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ แต่เพราะมนุษย์ต้องการหลีกเลี่ยงความตาย อันตราย การทำร้ายร่างกาย ต้องการทำตามความต้องการตัวเองมากกว่าจะโดนคนอื่นบังคับ การป้องกันก็ถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีความขาดแคลน เพราะทรัพยากรที่ใช้ป้องกันก็มีจำกัด และต้องถูกจัดสรร ทำให้มันมีคุณค่า ผู้คนสามารถผลิตมันขึ้นมาหรือ จ่ายเงินเพื่อมันและมันก็กลายเป็นหนึ่งในสินค้าตลาด
การป้องกันในที่นี้อาจหมายถึงป้องกันจากการเริ่มต้นใช้ความรุนแรง ซึ่งการป้องกันนั้นอาจจะเป็นการใช้ความรุนแรงก็ได้ แต่จะใช้ต่อคนที่ทำความรุนแรงมาก่อนแล้วเท่านั้น
ตลาดสำหรับการป้องกันมีความหลากหลายตั้งแต่ กลอนประตู กล้องวงจรปิด รั้ว ยาม ไปจนถึงนักสืบส่วนตัว
ความปลอดภัยไม่ใช่ความรับผิดชอบของรัฐ พนักงานความปลอดภัยเอกชนมีจำนวนมากกว่ารัฐ บริษัทส่วนใหญ่เลือกที่จะจ้างบริการจากเอกชนเอง กองกำลังความปลอดภัยของรัฐส่วนใหญ่มุ่งเน้นที่การรักษาความปลอดภัยของรัฐ ไม่ใช่เพื่อประชาชน
ตลาดของอาวุธถือเป็นส่วนหนึ่งของตลาดสำหรับการป้องกัน แม้อาวุธส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อเริ่มต้นก่อความรุนแรง และจำนวนมากถูกซื้อโดยรัฐที่ได้เงินมาจากประชาชนอย่างไม่เต็มใจ แต่ผู้ผลิตอาวุธส่วนใหญ่เป็นเอกชนที่สมัครใจผลิต ใช้เงินทุนจากผู้ออม จ้างงานอย่างสมัครใจ แบ่งงานกันทำ ใช้วัตถุดิบจากตลาดโลก และส่วนใหญ่ขายให้กับคนที่ให้ราคาดีที่สุด ซึ่งทำให้การผลิตอาวุธมีการพัฒนามาเรื่อยๆ
ถ้าคิดดีๆ แล้วอาวุธก็ไม่ต่างจากส่งพลังงานจลน์ปริมาณมากไปสร้างความเสียหายสูงสุดต่อศัตรู การพัฒนาคือเพิ่มความสามารถในการส่งพลังงานนี้ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งสุดท้ายแล้วจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางทหาร
แม้แต่กองกำลังทางทหารยังต้องพึ่งพาตลาดเสรีทุนนิยม ถ้าไม่มีตลาดที่ดีกองทัพก็เสื่อมโทรมกลายเป็นแรงงานทาส ยากที่จะเอาชนะศัตรู เช่นสมัยสังคมนิยมโซเวียต ที่รัฐบาลครอบครองทรัพยากรในประเทศทั้งหมด ไม่มีตลาด ไม่ีราคา ไม่มีการพัฒนา
การป้องกันอีกรูปแบบนึงคือ อนุญาโตตุลาการ (การระงับข้อพิพาทโดยไม่ได้ให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน แต่คู่กรณีจะเป็นผู้เลือกผู้ตัดสิน) แม้ว่าระบบกฎหมายส่วนใหญ่จะผูกขาดกับระบบการเมือง แต่อังกฤษก็เคยมีศาลเอกชนให้บริการ และปัจจุบันก็ยังมีอยู่ในหลายที่เช่นในสหรัฐ ศาลเหล่านี้แรงจูงใจจะตัดสินให้เป็นธรรมเพื่อให้มีคนมาจ้าง ไม่ได้เกิดจากการออกแบบจากบนลงล่างของผู้วางแผนส่วนกลาง

แม้ศาลเอกชนแบบนี้จะไม่ได้มีอำนาจเหนืออำนาจของศาลของรัฐ ที่มักจะมีขั้นตอนที่ช้า แพง และประสิทธิภาพน้อย แต่ประชาชนสามารถเลือกไปใช้บริการศาลที่พวกเขาเชื่อถือได้เวลามีข้อพิพาทกับคู่สัญญา และบางครั้งมีการใส่ข้อกำหนดของการใช้อนุญาโตตุลาการไว้ในสัญญาด้วย การมีศาลที่เป็นอิสระและแข่งขันอย่างอิสระอาจจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาตลาดเสรี
ถ้าหากประชาชนมีสิทธิ์ที่จะแยกตัวเป็นอิสระจากรัฐได้ รัฐจะไม่สามารถคาดหวังว่า ภาษีและความภักดีจากพลเมืองจะเป็นของตาย ในสถานการณ์แบบนี้ รัฐจะต้องทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของพลเมือง ถ้าประชาชนไม่มีสิทธิ์แยกตัวเป็นอิสระ รัฐจะผูกขาดอำนาจในดินแดนนั้น
นักเศรษฐศาสตร์สถาบันมักกล่าวว่า เราจำเป็นต้องมีรัฐเพื่อการกำหนดสิทธิ์ในทรัพย์สิน ถ้าไม่มีการผูกขาดในการตัดสินการครอบครองทรัพย์สิน จะมีแต่ความขัดแย้งในสังคม แต่ในความเป็นจริงแล้ว นอกเหนือจากสังคมนิยม รัฐไม่ได้กำหนดทรัพย์สิน แต่แค่เป็นผู้บังคับใช้หลักการในข้อพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์สิน ซึ่งการบังคับใช้นี้ก็ฟังดูไม่มีเหตุผลถ้าองค์กรไม่มีอำนาจบังคับทางการเงิน
การผูกขาดที่มีอำนาจบังคับเกี่ยวกับการป้องกันและกฎหมาย เป็นต้นเหตุของความล้มเหลวของตลาด เพราะการป้องกันและกฎหมายก็ถือเป็นสินค้าเศรษฐกิจ เมื่อใดก็ตามที่มีการผูกขาดอำนาจ คุณภาพสินค้าก็จะลดลง และสินค้าขาดแคลน และผู้ขายที่ผูกขาดก็จะได้เปรียบ เช่นผู้มีตำแหน่งในรัฐ และจะยิ่งแย่ลงเมื่อใช้การผูกขาดจัดหาทุนสำหรับทำโฆษณาชวนเชื่อในโรงเรียน มหาลัย หรือสื่อมวลชนเพื่อให้ประชาชนยอมรับความถูกต้องของการผูกขาด
เครื่องจักรที่ใช้พลังงานสูงในปัจจุบันเป็นเหตุผลสำคัญในการเลิกใช้แรงงานทาสเนื่องจากมันคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า แต่การเป็นทาสในรูปแบบอื่นไม่ได้หายไป โดยเฉพาะผ่านทางรัฐนิยมที่ใช้โฆษณาชวนเชื่อและการศึกษามักหลอกประชาชนว่า การป้องกัน บริการทางความมั่นคงและกฎหมายเป็นสินค้าพิเศษ รัฐควรเป็นผู้ผูกขาดสิ่งเหล่านี้และรัฐจะหักหัวคิวจากการผลิตของประชาชนมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย
ประชาชนกลายเป็นทาสสมัยใหม่ของรัฐ ที่ยอมรับการถูกปล้นทรัพย์สิน แลกกับความมั่นคงที่ด้อยคุณภาพ ประชาชนถูกฝึกให้ยอมรับความชอบธรรมในอำนาจ และถูกผู้มีอำนาจผูกขาดความรุนแรงควบคุมด้านอื่นๆ ของชีวิตทั้งหมด โดยเริ่มจากเงินอย่างในสังคมนิยม
เป็นเรื่องแปลกและย้อนแย้งที่เราคาดหวังให้รัฐปกป้องทรัพย์สินของเรา ทั้งที่รัฐเป็นคนบังคับริบทรัพย์สินของเราโดยภาษีอยู่แล้ว และยังผูกขาดอำนาจทางกฎหมาย สังคมภายใต้รัฐจะนำไปสู่ความขัดแย้ง ผู้คนจะพยายามขึ้นสู่อำนาจเพื่อปกครองผู้อื่น รัฐจะกลายเป็นกลุ่มอันธพาลที่ใหญ่สุดในสังคม วัตถุประสงค์ของความปลอดภัยของรัฐคือเพื่อปกป้องรัฐ ไม่ใช่ประชาชน
เมื่อรัฐเก็บภาษีไปเพื่อความปลอดภัย จะมีคำถามตามมามากมายเช่น ควรมีตำรวจทุกชุมชน หรือทุกถนนหรือไม่ ควรปกป้องคนรวยมากกว่าคนจนหรือไม่ (ถ้าเก็บภาษีตามความร่ำรวย) ตำรวจต้องมีกี่คน ต้องมีคนที่ได้รับสถานะ vip มั้ย แล้วงานอีเว้นท์ใช้ตำรวจด้วยมั้ย คำถามเหล่านี้ตอบยากเพราะไม่มีการคำนวนจากส่วนกลางที่มีเหตุผลที่พอใจทุกคนได้แน่ ซึ่งถ้าในตลาดเสรี ทุกคนตัดสินใจกันเองเขาจะคำนวนตามความต้องการของตนเองได้
ผู้ให้บริการเช่นทหาร ตำรวจกลายเป็นผู้ผูกขาด ไม่มีแรงจูงใจให้พัฒนาความพึงพอใจ เนื่องจากคนจ่ายเงินไม่ใช่ลูกค้าโดยตรง การผูกขาดกิจการไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว ค่าใช้จ่ายจะสูงและประสิทธิภาพจะต่ำ พวกเขายังอยู่เหนือกฎหมายเพราะเสมือนเป็นพวกเดียวกัน
เขาจะมีแรงจูงใจในการใช้ประโยชน์จากอำนาจและตำแหน่งของตัวเอง ทำให้เราเห็นตำรวจที่ทำร้ายพลเมืองได้ในสังคมสมัยใหม่ หรือทหารสหรัฐที่เข้าร่วมกับสงครามอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเพราะเขาไม่ต้องรับผิดชอบต่อเงินทุน (กระทรวงกลาโหมของสหรัฐ เคยชื่อกระทรวงสงครามจนถึง 1947)

ในทางกลับกัน รปภ.ที่เอกชนจ้างจะไม่มีปัญหาเดียวกับตำรวจ เพราะเขาไม่ได้ผูกขาดและยังอยากทำงานต่อ เขาจึงโฟกัสที่ความพึงพอใจของลูกค้า ประชาชนจะได้เลือกใช้เงินที่เขาเห็นสมควรเพื่อความปลอดภัย เป็นความปลอดภัยของเขาจริงๆ ไม่มีผูกขาดไม่มีการไปรุกรานใคร
กฎหมายไม่ได้ถูกสร้างโดยรัฐ ในทำนองเดียวกับเงินและตลาดเสรี รัฐมาเนียนใช้ความชอบธรรมที่ประชาชนมอบให้ในการบังคับใช้กฎหมาย ในความเป็นจริง สังคมสามารถกำหนดกฎหมายกันขึ้นมาเองได้ และจะมีความสงบเรียบร้อยมากกว่าด้วยถ้าเราไม่ได้มอบความชอบธรรมให้รัฐ
มี 4 หลักการ/วิธีที่ตลาดเสรีจะนำไปสู่ความสงบสุข และลดความรุนแรง
- การป้องกันตัวเองจากการรุนรานเป็นสิ่งที่ทำได้: เจ้าของทรัพย์สิน (หรือตัวแทนที่ได้รับการว่าจ้าง) สามารถตอบโต้ด้วยความรุนแรงได้ ส่งผลให้อาชญากรจะลังเลที่จะลงมือทำ
- ผู้คนมีอิสระในการร่วมมือกันภายใต้สัญญา ภายใต้กฎหมายและศาลที่กำหนดไว้ เช่นสัญญาจ้างงาน ผู้คนจะยอมรับการจัดการนี้เพราะมันช่วยในการจัดการกับผู้อื่น แบบมีประสิทธิภาพและสมัครใจ
- ชื่อเสียง ความละอาย การคว่ำบาตร เป็นเครื่องมือให้สังคมสามารถลงโทษพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่นการจัดอันดับเครดิต รีวิวจากลูกค้า หรือประวัติอาชญกรรม การมีข้อมูลเหล่านี้เป็นวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพ
- อุตสาหกรรมประกันภัย มนุษย์ที่ให้คุณค่ากับเวลา จะยอมเสียเงินเพื่อรักษาสุขภาพให้เขาอยู่ได้นาน เมื่อทั้งลูกค้าและบริษัทประกันมีผลประโยชน์ร่วมกันในการอยู่รอด บริษัทประกันอาจจะเข้ามาช่วยจัดการในการรักษาความปลอดภัยให้ลูกค้าร่วมด้วยก็ได้ในตลาดเสรี
แต่ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะเดาว่าหน้าตาของตลาดเสรีด้านความปลอดภัยจะเป็นยังไง ย้อนกลับไป 20 ปีที่แล้ว เราอาจจะนึกหน้าตาของอินเตอร์เน็ตทุกวันนี้ไม่ออก สังคมแต่ละแห่งอาจจะให้ความสำคัญ ค่านิยมในความปลอดภัยที่ต่างกันได้ แบบลาสเวกัสกับซาอุดิ ซึ่งอาจจะนำไปถึงการมีสิทธิในการเลือกสังคมที่เหมาะกับค่านิยมของตัวเอง
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการยอมรับในสิทธิของตัวเองและทรัพย์สินของตัวเอง ซึ่งต่างจากที่คนอื่นมองอิสระนิยม ว่าเป็นการตามใจตนเอง โดยไม่รับผลที่ตามมา ซึ่งแนวคิดอิสระนิยมแบบออสเตรียนมีแนวคิดสำคัญคือ ไม่เริ่มต้นความรุนแรง ยอมรับผลจากการกระทำของตัวเอง ปฏิเสธความชอบธรรมของรัฐ และสังคมเป็นผู้ลงโทษผู้กระทำผิดได้ดีกว่ารัฐ
เจ้าชายฮันส์-อดัมแห่งลิกเตนสไตน์ เคยเสนอมุมมองทางเลือกบทบาทของรัฐในสังคมอิสระ โดยผู้คนระดับชุมชนสามารถตัดสินใจเข้าร่วมหรือไม่กับหน่วยงานบริการของรัฐก็ได้ สามารถเลือกออกจากสิทธิ์ได้ถ้าไม่ชอบ
สิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมต่างๆ เช่น รถยนต์ เครื่องบิน มือถือ ไม่ได้ถูกคิดค้นผ่านกระบวนการประชาธิปไตย ผู้ผลิตต้องนำเสนอต่อผู้บริโภค การตัดสินใจของผู้บริโภคส่งผลให้ผู้ผลิตประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ตลาดเสรีของการป้องกันและกฎหมาย อาจจะมาในรูปแบบของประเทศที่นำเสนอภาษีที่ต่ำให้กับประชาชน ดึงดูดให้คนย้ายเข้ามาอยู่ เพราะในเมื่องานหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลายเป็นดิจิทัลมากขึ้น

อาจเป็นไปได้ว่าสถาบันการปกครองแบบราชวงศ์นั้นเป็นรูปแบบที่ประสบความสำเร็จตามธรรมชาติ ดังที่เห็นในหลายประเทศเช่น ญี่ปุ่น ยุโรป อิสลาม บางทีราชวงศ์ที่สนใจการอยู่รอดในระยะยาว มองเสมือนเป็นการส่งต่อธุรกิจครอบครัว เขาอาจจะใช้กฎหมายที่ให้ความสงบสุขกับสังคมเพราะมี time preference ที่ต่ำกว่าเอกชน ที่อาจจะมุ่งเน้นกำไรระยะสั้น และมองระยะยาวมากกว่ารัฐบาลที่มีความไม่แน่นอนสูง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ซึ่งกระตุ้นให้เขาทำเพื่อผลระยะสั้นที่อาจส่งผลเสียหายระยะยาว
Chapter 18 - Civilization
การแบ่งงานกันทำ (division of labor) นำมาซึ่งความร่วมมือของผู้คน ส่งผลให้เกิดเป็นสังคมและอารยธรรม หากไม่มีการแบ่งงานกันทำหรือมนุษย์ไม่เข้าใจสิ่งนี้ มนุษย์จะยังคงเป็นศัตรูกันเองตลอดกาล แข่งขันแย่งชิงทรัพยากร และมองทุกคนเป็นศัตรูไม่มีความเห็นอกเห็นใจ

คำนิยามของ "อารยธรรม" แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลาแต่ละสังคม แต่พื้นฐานเบื้องหลังทุกอารยธรรมคือการพัฒนา Material conditions (สภาพของวัสดุหรือทรัพยากร) แม้ว่ามันอาจไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย แต่เป็นวิธีการที่นำไปสู่อารยธรรม เพิ่มโอกาสในการอยู่รอด ปกป้องตัวเองจากผู้ล่า ภัยคุกคาม พัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มความเชี่ยวชาญ สร้างเทคโนโลยี ซึ่งมันดำเนินไปเพราะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในแต่ละขั้นตอน
จุดเริ่มต้นของอารยธรรมคือการ lower time preference ซึ่งช่วยให้มนุษย์ไม่ถูกควบคุมโดยสัญชาตญาณ แบบสัตว์อื่นๆ มีความคิดที่มีเหตุผลและสามารถเลื่อนความพึงพอใจออกไปได้ ทำให้มีการสะสมทุน เอาไว้เพิ่มผลผลิต เพิ่มมาตรฐานการใช้ชีวิต และทำให้มีมารยาทมากขึ้น เพราะคิดถึงผลกระทบที่ตามมาจากการกระทำของตน เอื้อต่อการแบ่งงานกันทำ พึ่งพาอาศัยกัน พัฒนากฎเกณฑ์ ประเพณีนิยม และสิ่งที่สำคัญคือการเคารพต่อทรัพย์สินของแต่ละบุคคล
ยิ่ง lower time preference ยิ่งออมเงินและการแบ่งงานกันทำมากขึ้น เราต้องร่วมมือกับผู้อื่นมากขึ้น นำไปสู่การเกิดขึ้นของอารยธรรม สถาบันในสังคมที่จะอยู่รอดและเติบโตต้องส่งเสริมอารยธรรมเหล่านี้ โดยเริ่มจากสถาบันครอบครัว
ซึ่งครอบครัวทำให้เราสนใจอนาคตที่ยาวกว่าชีวิตเรา สะสมทุน เสียสละความสนุกในปัจจุบันเพื่อคนรุ่นหลังมีชีวิตที่ดีกว่า การมีลูกเป็นวิธีที่ทรงพลังในการ lower time preference ทำให้มีแรงจูงใจที่จะร่วมในสังคมและอารยธรรม คำนึงถึงผลที่ตามมาหลังจากเราจากไป
ทำให้เราพัฒนาไปสู่พฤติกรรมที่ร่วมมือกัน มีเหตุผลตาม low time preference ซึ่งเมื่อปฏิบัติต่อเนื่องกันหลายรุ่น มันจะกลายเป็นอารยธรรมมนุษย์ เช่น ภาษา, ศาสนา, ประเพณี, เทคโนโลยี, ความคิด ซึ่งกระบวนการของอารยธรรมที่ถูกต้องคือคนรุ่นหลังมีชีวิตที่ดีกว่าคนรุ่นก่อน
ประโยชน์ที่ได้จากอารยธรรมดึงดูดให้คนอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น ยกเว้นแค่บางคนที่ออกจากสังคมไปอยู่อย่างโดดเดี่ยวกับธรรมชาติ อาจจะเพราะเขาไม่ได้อยู่ในสังคมนานพอหรือไม่พอใจบางอย่าง เพราะประโยชน์ของอารยธรรมไม่ได้เกิดขึ้นทันที มันมักจะเริ่มจากความเสียสละเลื่อนความอยากได้ของตนเอง ใช้เหตุผลควบคุมสัญชาตญาณ เลือกไม่ทำสิ่งที่ขัดแย้งกับสังคม ยอมรับแนวคิดการเป็นเจ้าของตัวเอง แล้วเราจะเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นแบบสันติ เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
อารยธรรมสมัยใหม่เป็นไปได้เพราะผู้มีอสระทั่วโลกร่วมมือกันทำงานให้เกิดประสิทธิภาพผ่านตลาดเสรี ไม่มีเจ้าของทาสบังคับให้ทาสสร้างสิ่งมหัศจรรย์ได้ หากไม่กระจายความเป็นเจ้าของในการผลิตและพัฒนาตลาด ก็จะไม่มีการจัดสรรทุนที่ดี
ผลผลิตของสังคมสมัยใหม่ไม่ได้เกิดจากความคิดของคนใดคนหนึ่ง ต้องใช้คนหลายพันล้านคนที่ทำงานโดยสมัครใจในตลาดเสรี ไม่มีหน่วยงานบังคับ มีอิสระในการเป็นเจ้าของผลตอบแทนจากการทำงาน และรับข้อผิดพลาดของตนเอง หากไม่มีการยอมรับแนวคิดการเป็นเจ้าของตัวเอง สังคมจะกลับไปสู่ความขัดแย้ง ทำลายประสิทธิภาพเทียบไม่ได้เลยกับประโยชน์จากความร่วมมือ
ธรรมเนียมปฏิบัติ ประเพณี และมาตรฐานทางศีลธรรมที่ซึมซับอยู่ในสังคมที่เจริญนั้น เป็นรูปแบบของพฤติกรรมที่ช่วยส่งเสริมประโยชน์ทางการค้าและเศรษฐกิจ ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ และความน่าเชื่อถือทำให้คนแปลกหน้ากล้าที่จะทำธุรกิจเพื่อผลประโยชน์ของทุกฝ่าย
ความยับยั้งชั่งใจทางเพศช่วยให้สร้างครอบครัวที่มั่นคง นำไปสู่ low time preference การกระทำโดยไม่คิดหน้าคิดหลังตามสัญชาตญาณของสัตว์จะทำลายเป้าหมายระยะยาวของเรา
คนที่ไม่เจริญหรือขาดวินัยเหมือนเด็กๆ อาจต้องการที่จะทำร้ายใครตามใจ ขโมยของโดยไม่สนใจเจ้าของ พูดโกหกเพื่อให้ได้ตามต้องการ ล่วงละเมิดทางเพศ มนุษย์ต้องใช้เวลาในการศึกษา การเลี้ยงดู และการปรับปรุงตัวเอง เพื่อให้เรียนรู้ที่จะควบคุมสัญชาตญาณ ใช้เหตุผลในการคาดหวังผลประโยชน์ในอนาคต วัฒนธรรมมีอยู่ได้ก็ต่อเมื่อ ความมีเหตุผลของมนุษย์นำเราไปสู่การควบคุมสัญชาตญาณและการร่วมมือกัน

แล้วเหตุผลอะไรที่คนต้องอยู่ในอารยธรรม ทำไมต้องยอมเสียสัญชาตญาณ ทำไมไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อแย่งชิงทรัพย์สิน ความสะดวกสบายในอารยธรรมมันคุ้มค่าแล้วหรือ
คุณค่าของอารยธรรมนั้นมันวัดไม่ได้ ไม่มีอะไรที่จะการันตีว่าชีวิตในสังคมจะดีกว่าการแยกไปอยู่คนเดียว
หรือว่าแนวคิดว่ามนุษย์มีสิทธิ์ทางธรรมชาติบางอย่างตั้งแต่เกิด แต่ละคนเคารพซึ่งกันและกันทำให้เกิดอารยธรรม หรือว่าเป็นเพราะศาสนาซึ่งฝังค่านิยมให้กับผู้คน แต่บางทีศาสนิกชนก็สร้างเหตุผลเพื่อรุกรานคนอื่น
แต่หนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นว่าขบวนการของเศรษฐศาสตร์เป็นเหตุให้เกิดอารยธรรมขึ้นมาได้ โดยเริ่มตั้งแต่การกระทำของมนุษย์ และความหมายของมัน ปัญญาที่เกิดจากสมองคิดเหตุผลที่ซับซ้อน จนถึงจุดที่ความมีเหตุผลของมนุษย์ควบคุมและกำหนดผลกระทบในโลกแห่งจริง แม้แต่คนที่แยกออกไปไม่ติดต่อกับโลกภายนอก ก็ยังรวมตัวกันเป็นกลุ่ม แบ่งงานกันทำและสะสมทุนอยู่ดี
ผู้ได้รับประโยชน์จากอารยธรรมบางคน อาจบอกว่าตัวเองไม่ได้ต้องการเข้าร่วมกับสังคม หรือแม้แต่อาชญากรผู้รุกรานคนอื่น แต่พวกเขายังคงพึ่งพาการมีชีวิตรอดจากผลิตภัณฑ์และบริการที่สังคมผลิต จากการแบ่งงานของคนในสังคม คนเหล่านั้นยังต้องมาแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตัวเองต้องการในสังคม
อาวุธไม่ได้ถูกผลิตโดยคนที่จะไปทำร้ายคนอื่นเสมอไป มันมักถูกผลิตโดยคนที่สะสมทุน low time preference ลงทุนในกิจการ จ้างวิศวกรที่มีแรงจูงใจจากเงินเดือน ใช้ห่วงโซ่อุปทานกับคนทั้งโลก ผลิตอาวุธที่บางทีกลับมาสู้กับอารยธรรมตัวเอง หรือคนร้าย ด้วยการขยับไกปืนที่แม้แต่เด็กก็ทำได้
หรือคุณจะเป็นนักวิจารณ์ นักโต้วาทีที่กล่าวว่าอารยธรรมมีปัญหาหรือโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สิน นั่นคือคุณกำลังแสดงพฤติกรรมที่มีเหตุผลแทนที่จะใช้สัญชาตญาณ คุณใช้สินค้าทุนในการกระจายความคิดของคุณผ่านหนังสือ ผ่านอินเตอร์เน็ต คุณกำลังมีส่วนร่วมในระเบียบเศรษฐกิจทุนนิยม ที่เริ่มมาจากสิทธิ์ในทรัพย์สินและการงานกันทำอย่างเสรี
แม้ว่าจากประวัติศาสตร์เราจะเห็นการพัฒนาและล่มสลายของอารยธรรม แต่แนวโน้มโดยรวมก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ตัวชี้วัดความก้าวหน้านี้คือ ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานเพิ่มขึ้น มีการใช้พลังงานมากขึ้น ต้นทุนพลังงานถูกลง การพัฒนาของเทคโนโลยีต่างๆ และแนวโน้มระยะยาวอัตราดอกเบี้ยลดลง (normal safe loan) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการพัฒนา low time preference ของอารยธรรม ตามบทก่อนหน้านี้

สงครามโลกเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ มันทำให้ความก้าวหน้าของอารยธรรมหยุดชะงัก ทำลายตลาดการเงินเสรีและถูกทดแทนด้วยหนี้ของรัฐ เสมือนเป็นผลตอบแทนของการเริ่มต้นใช้ความรุนแรง ทำลายเงินออมของผู้คน ก่อให้เกิด high time preference จุดเริ่มความเสื่อมของอารยธรรม
เงินมั่นคงที่มีทองคำหนุนหลัง กลายเป็นเงินเฟียตที่ทำให้เรากลายเป็นทาสของหนี้ เมื่อการออมเงินถูกบ่อนทำลาย รัฐที่สร้างเงินจากการกู้ได้จะกล้าใช้เงินในการจัดหาสินค้าจำเป็น แรงจูงใจในการลงทุนกับครอบครัวก็โดนทำลาย สร้างผลกระทบต่อสังคมตามมา
รัฐปกป้องธนาคารที่ผิดสัญญา ออกกฏหมายที่สร้างเครดิต สร้างหนี้ สร้างเงินเฟ้อ เมื่อเงินถูกลดค่า ทุกอย่างก็ถูกลดค่าลงไปด้วย ผู้คนจะหาช่องทางใช้ประโยชน์จากอำนาจรัฐและกฎหมาย นำไปสู่การผูกขาด ผู้คนถูกบังคับให้เปลี่ยนสินค้าที่จำเป็นไปใช้สินค้าที่ด้วยคุณภาพลง รัฐยังสามารถใช้เงินในการสนันสนุนโฆษณาชวนเชื่อ เช่น การบริโภคกากอุตสาหกรรมดีต่อสุขภาพมากกว่าเนื้อสัตว์ โทษไฮโดรคาร์บอนสำหรับโลกร้อน
เงินเฟียตทำลายระเบียบการเงินของสังคม ทำให้เกิดเงินเฟ้อที่รุนแรง เปลี่ยนธนาคารจากสถาบันที่จัดสรรเงินทุกเป็นบริษัทพนันที่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐ นำกำไรไปสู่รัฐและธนาคาร ส่วนผลขาดทุนอยู่ที่สังคมโดยรวม
การคำนวนทางเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องยาก เพราะอัตราดอกเบี้ยถูกกำหนดโดยผู้ตัดสินใจจากส่วนกลาง เงินเฟียตยังทำลายบทบาทของเงินในฐานะสินค้าในตลาด ในปัจจุบันเงินในฐานะแหล่งเก็บคุณค่ากลายเป็นสินทรัพย์หลายชนิด ที่แตกต่างกันด้วยแต่ละเหตุผล เช่นเงินดอลลาร์ พันธบัตร ทองคำ อสังหา ศิลปะ หุ้น ถูกบิดเบือนไปจากที่มันควรจะเป็น
ไม่เพียงแค่เงินเฟ้อและภาษี แต่รัฐสามารถละเมิดเราได้ในรูปแบบอื่น รัฐยังละเมิดเวลาของเรา โดยห้ามใช้เทคโนโลยีที่เก็บคุณค่าที่เราสร้างจากเวลาของเรา นั่นคือเงิน (หมายถึงเงินที่ดีจริงๆ ไม่ใช่เงินเฟียต) เราต้องทำงานหนักขึ้น นานขึ้น มีอนาคตที่ไม่แน่นอน ครอบครัวพังทลาย อาชญากรรมเพิ่มขึ้น อารยธรรมเสื่อมโทรมลง จากการไม่ได้ใช้เงินที่ดี
เศรษฐกิจทุนนิยมมีความสำคัญและส่งผลกระทบต่ออารยธรรมสมัยใหม่ โดยเฉพาะด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และการเติบโตทางเศรษฐกิจ การผลิตจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆสูงขึ้น เราสามารถแก้ไขปัญหาที่ใหญ่ขึ้น ซับซ้อนขึ้นได้
ระบบเศรษฐกิจยังเป็นตัวขับเคลื่อนให้มนุษย์พัฒนา นำเสนอนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ แต่ทุนนิยมกำลังเผชิญปัญหาจากการผูกขาดของรัฐและธนาคารกลาง ที่สามารถควบคุมการผลิตเงิน เงินจากธนาคารกลางเป็นอุปสรรคต่อตลาดเสรี

แต่อย่างน้อยที่สุดมันเป็นแรงผลักดันให้เกิด bitcoin ที่เป็นระบบเงินสด peer to peer กระจายศูนย์ ไร้พรมแดน โปร่งใส ปริมาณจำกัด มีศักยภาพที่จะหยุดการควบคุมเงินของรัฐ นำโลกกลับไปสู่ตลาดเสรีโดยไม่ใช้ความรุนแรง ถ้าทำสำเร็จ bitcoin จะเป็นความสำเร็จทางอารยธรรมที่สำคัญที่สุดในยุคของเรา
**จบบริบูรณ์