ช่วงหลายวันที่ผ่านมาจะเห็นการออกมาของนักวิชาการเศรษฐศาสตร์หลายท่านคัดค้านอย่างหัวชนฝาต่อเรื่องการแจกเงินดิจิทัล 10000 บาทที่ถือเป็นนโยบายกระตุ้น เศรษฐกิจตามแนวทางแบบเคนส์ (Keynesianism) เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตในช่วงหนึ่งผ่านการกระตุ้นอุปสงค์มวลรวมระยะสั้นเท่านั้น อันที่จริงแล้วในหมู่นักวิชาการที่ร่วมลงชื่อเห็นพ้องในแถลงการณ์ให้รัฐบาล "นายเศรษฐา ทวีสิน" ทบทวนหรือยกเลิกนโยบายแจกดิจิทัลวอลเล็ตทั้ง 99 คน (อาจมากกว่านั้น) หรือ นักวิชาการจากสถาบันที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐศาสตร์และการบริหารทางการเงิน อย่างเช่น TDRI สภาพัฒน์และอื่น ๆ ที่ล้วนไม่เห็นด้วยนั้นก็มีแนวคิดที่ไม่แตกต่างจากนโยบายพรรคเพื่อไทยมากนัก เพียงแต่สาระสำคัญที่พวกเขาต่อต้านนโยบายนี้เพราะพวกเขา "สนับสนุนพรรคก้าวไกล" และ "เกลียดอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร" ก็เท่านั้น

จะเห็นว่า "นักวิชาการ" เลือกข้างอย่างชัดเจน (พวกเขาไม่มีทางเป็นกลาง หรือ แม้แต่งานวิชาการเองก็ไม่มีทางเป็นกลางหรือปราศจากอคติ) อาจไม่จำเป็นต้องเป็นฉันทามติในหมู่นักวิชาการ แต่กล่าวได้ว่าแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์และนีโอเคนส์ถือเป็นกระแสหลักในสังคมไทยทุกวันนี้ จึงไม่มีใครที่ไม่เชื่อว่า "การปล่อยตลาดทำงานไป" สมควรจะเกิดขึ้นจากการให้รัฐไม่แทรกแซง แต่รัฐจะต้องควบคุมกลไกตลาดเสรีนั้น มันสามารถอนุมานได้ว่ามีส่วนน้อยมาก หรือ แทบไม่มีเลยเชื่อว่ากลไกตลาดไม่สมควรถูกแทรกแซงอย่างตรงไปตรงมาตามหลักการ "ปล่อยให้ทำไป" (laissez-faire) ตรงนี้ความไร้กระดูกสันหลังเกิดขึ้นเมื่อเขาเลือกข้าง แต่ยกเว้นหลักการที่ตนยึดถือมาโดยตลอดกับฝ่ายที่ตนเองอยู่ โดยไม่ตั้งคำถามกับแนวคิดของฝ่ายที่ตนเองอยู่ว่ามันอาจจะแย่กว่าก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น หากเพื่อไทยแจกเงินดิจิทัลวอลเลตแล้วทำเศรษฐกิจเข้าสู่วิกฤตมันแย่ไม่ควรสนับสนุน แล้วถ้าก้าวไกลทำรัฐสวัสดิการที่สร้างความเรื้อรังต่อประเทศในระยะยาวมันแย่แต่ทำไมยังสนับสนุน? หลักการความเชื่อของคนอาจไม่สอดคล้องกับจุดยืนของกลุ่ม เมื่อจุดยืนของกลุ่มเป็นอย่างไร หลักการความเชื่อของคนก็ต้องเอียนเอียงไปตามจุดยืนของกลุ่มนั้น

ซึ่งมันทำให้สิ่งที่ปรากฏออกมาในสื่อกลายเป็นหน้าตาของนักวิชาการที่แสดงออกไม่ต่างจากนักการเมืองเลย หรือก็คือ พวกเขามีลักษณะพฤติกรรมที่ตลบตะแลงต่อประชาชน และ พูดจาเพื่อหวังว่าสิ่งที่ตนทำนั้นก็เป็นการทำเพื่อประเทศชาติ แต่พวกตนทำเพื่อประเทศชาติอย่างไรละในเมื่อช่วงเวลาที่พวกเขาอยู่ใต้ร่มเงาของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาถึงไม่กล้าคัดค้านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีสาระสำคัญคือ "เงิน" เหมือนกัน? ก็เพราะพวกเขากลับกลอกซ่อนเงื่อนไม่ต่างจากนักการเมือง ไม่กล้าพูดว่ามันไม่ดีอย่างตรงไปตรงมา หรือ จากที่กล่าวข้างต้นก็คือ ***“หลักการความเชื่อของคนอาจไม่สอดคล้องกับจุดยืนของกลุ่ม เมื่อจุดยืนของกลุ่มเป็นอย่างไร หลักการความเชื่อของคนก็ต้องเอียนเอียงไปตามจุดยืนของกลุ่มนั้น” ***
ณ เวลานี้เราจำเป็นต้องพูด "ความจริง" ที่ไม่โลกสวยและเลือดเย็นว่า นโยบายเหล่านี้และการกระทำของนักวิชาการที่ได้เคยทำมาตลอดนั้นล้วน “ทำลาย” ประเทศชาติอย่างไม่รู้ตัว ทั้งจากการขัดขวางการเก็บออมเพื่อให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น หรือ แทรกแซงเศรษฐกิจเพื่อเอื้อต่อทุนผูกขาด หรือ รับนโยบายจากชนชั้นนำของโลกฝ่ายซ้าย (globalist) อย่างเช่น แนวคิดรักสิ่งแวดล้อมที่มาจาก Green New Deal (จำพวกรถไฟฟ้า พลังงานสะอาดพวกลมและโซลาร์เซลล์) มาปฏิบัติใช้เพื่อการดำรงอยู่ของกลุ่มอำนาจตนเองอย่างหน้าไม่อาย พวกเขาไม่สนใจเลยว่า "พรุ่งนี้เราจะมีอนาคตรึเปล่า?" "คุณค่าการดำรงชีวิตของคนคืออะไร?" นอกเหนือจากการใช้วาทศิลป์เพื่อให้ตนเอง (นักวิชาการ) และผองเพื่อนดำเนินการคุมอำนาจทางเศรษฐกิจและสังคมต่อไป ซึ่งในเพจอิสรนิยมได้เคยกล่าวไว้ว่าในยุคปัจจุบันที่เป็นอยู่เรียกสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ว่า "ทุนนิยมแบบผู้จัดการ" ("Managerial Capitalism") ทำให้เราไปไม่ไกลจากมันและมันพยายามจะควบคุมชีวิตเราอยู่เสมอ

จุดเล็ก ๆ ที่สังคมไทยจะหาทางออกได้ก็คือ ขั้นแรก "ตั้งคำถามกับแนวคิดฝ่ายซ้ายทุกแขนง" จึงเป็นสิ่งที่ประชาชนและชนชั้นนำควรให้ความสนใจมากกว่าการโฟกัสว่าจะทลายวาทกรรม "คน 99% กับคน 1%" การหันเหให้สังคมไทยเปิดทางให้กับเสรีภาพทางเศรษฐกิจจึงเป็นเป้าหมายแรกที่ควรมุ่งเป้าไป และระหว่างทางนั้นการเมืองก็ควรจะต้องมีสเถียรภาพเสียก่อน เพียงแค่การตั้งคำถามนี้ก็ทำให้สถานภาพทางสังคมแบบฝ่ายซ้ายและนักวิชาการผู้ไร้กระดูกสันหลังสั่นคลอนในจุดยืนของตนเองได้ ขั้นที่สอง เราควรกลับมาคิดถึงตนเองว่า "ทำไมเราจึงมีคุณค่าและเหตุผลในการดำรงอยู่?" ในวันนี้เรามุ่งเน้นทางด้านเศรษฐกิจเพียงเพราะเหตุผลอย่าง "ปากท้องต้องมาก่อน" จึงไม่เพียงพออีกต่อไป เมื่อสังคมไทยถูกฝ่ายซ้ายปลูกฝังให้เชื่อว่าคนมีคุณค่าและความเป็นคนเท่าเทียมกันจึงสร้างความแปลกแยกและฝืนธรรมชาติทำให้คนในสังคมไม่เกิดการพัฒนาและคุณค่าของความงามหรือความจริงถูกทำให้เสื่อมลง การมองความเป็นจริงที่ถูกต้องอยู่แล้วว่าปากท้องสำคัญในทางเศรษฐกิจ (ซึ่งนโยบายของพรรคเพื่อไทยมองถูกต้อง แต่วิธีการยังไม่ถูกต้อง) ทว่าสิ่งที่ต้องตามมานอกเหนือจากปากท้องก็คือ เมื่อทำให้ท้องอิ่มได้แล้ว อะไรคือเหตุผลที่เรามีคุณค่า หรือ เหตุผลในการดำรงชีวิตล่ะ? ซึ่งทั้งสองขั้นตอนที่กล่าวไปจึงเป็นแกนหลักที่ขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้เพื่อให้คนที่อยู่ในห้วงเวลาปัจจุบันก้าวไปสู่อนาคต