ที่มาที่ไป
ปกติผมเป็นคนไม่อ่านหนังสือภาษาอังกฤษ เรียกว่าพยายามเลี่ยงมาตลอดตั้งแต่สมัยเรียน text book มีไว้เปิดดูสูตร ตัวอย่าง แล้วก็รูป ไม่รู้เรียนรอดมาได้ยังไง ช่วงหลังก็มีเป็นอ่าน article บ้างแต่ไม่ถึงกับหนังสือเป็นเล่ม แต่หลังจากอ่าน Bitcoin Standard จบแล้ว รอ Fiat Standard เวอร์ชั่นแปลไทย อาจารย์ Saifedean ก็ออกเล่มใหม่ Principles of Economics ซึ่งตอนแรกก็คิดว่าจะรอเล่มแปลเช่นกัน แต่พอฟัง podcast ทีเซอร์ที่อาจารย์ Saif อ่านให้ฟัง แล้วเกิดคันไม้คันมืออยากอ่านต่อ เลยไปจัด version pdf มาอ่านไปก่อน แล้วด้วยความที่ไม่ค่อยได้อ่านหนังสือภาษาอังกฤษ ไม่ค่อยชำนาญเลยต้องคอยจดบันทึกสิ่งที่อ่านไว้ ไม่งั้นเดี๋ยวลืมแล้วต้องกลับไปอ่านอีกรอบจะท้อใจ เลยไหน ๆ มีโน้ตไว้เลยก็เอามาแชร์ไว้ดีกว่า เผื่อจะเป็นประโยชน์หรือใครสนใจไปอุดหนุนอาจารย์ Saif กันเพิ่มเติมครับ เพราะในหนังสือมีรายละเอียดและตัวอย่างมากกว่าที่ผมรวบรวมมาครับ
ผมไม่กล้าเรียกสิ่งนี้ว่ารีวิวหนังสือ หรือว่าแปลหนังสือ เพราะผมไม่มีความสามารถหรือประสบการณ์ขนาดนั้นนะครับ เลยเรียกว่าเป็นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้แล้วกันครับ อาจจะมีแปลมาตรงตัวบางประโยคบ้าง อ่านหลายย่อหน้าแล้วมาสรุปย่อบ้าง อ่านผิดผ่านถูกบ้าง ใครเจอที่ผมเข้าใจผิด มาแจ้งกันได้ หรือมี feedback อื่นใดก็บอกกันได้ครับ เนื้อหาช่วงแรกอาจจะไม่ซับซ้อนมาก สิ่งที่จดไว้ดูน้อยมากเมื่อเทียบกับบทหลัง ผมเลยอาจจะแบ่งเนื้อหาตามความยาวที่เหมาะสมแต่ละตอนนะครับ เริ่มกันเลย
Principles of Economics
Saifedean Ammous
Introduction
ตำราเศรษฐศาสตร์แบบเคนเซียนมักทำให้ผู้เรียนสับสน เนื่องจากเน้นการใช้สมการที่ซับซ้อน โดยไม่คำนึงถึงที่มาที่ไปและเหตุผล แต่ตำราเล่มนี้จะนำเสนอในแนวทางเศรษฐศาสตร์ออสเตรียน ซึ่งเน้นการเข้าใจหลักการพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์ หนังสือเล่มนี้ตั้งใจจะเป็นเครื่องมือการสอนที่ใช้ในมหาวิทยาลัย โดยอ้างอิงเนื้อหาไปยังเสาหลักของเศรษฐศาสตร์สายออสเตรียนอย่าง Menger, Rothbard, และ Mises
หนังสือถูกแบ่งออกเป็น 5 parts มีทั้งหมด 18 chapters
part I (chapter 1-3): จะกล่าวถึงหลักคิดพื้นฐานของออสเตรียน
part II (chapter 4-8): จะครอบคลุมถึงพฤติกรรมของมนุษย์ที่มีผลต่อเศรษฐศาสตร์
part III (chapter 9-12): จะสำรวจเศรษฐศาสตร์เชิงสังคม ทุนนิยม และบทบาทของเงิน
part IV (chapter 13-15): จะพูดถึงเรื่องดอกเบี้ยและระบบการเงิน
part V (chapter 16-18): จะศึกษาเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง ความปลอดภัย และการพัฒนาอารยธรรมมนุษย์
part I (chapter 1-3): จะกล่าวถึงหลักคิดพื้นฐานของออสเตรียน
part II (chapter 4-8): จะครอบคลุมถึงพฤติกรรมของมนุษย์ที่มีผลต่อเศรษฐศาสตร์
part III (chapter 9-12): จะสำรวจเศรษฐศาสตร์เชิงสังคม ทุนนิยม และบทบาทของเงิน
part IV (chapter 13-15): จะพูดถึงเรื่องดอกเบี้ยและระบบการเงิน
part V (chapter 16-18): จะศึกษาเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง ความปลอดภัย และการพัฒนาอารยธรรมมนุษย์
Part I - Fundamental
Chapter 1 - Human Action
เศรษฐศาสตร์ไม่ได้หมายความถึงแค่สิ่งของหรือความร่ำรวยเท่านั้น แต่มันหมายถึงผู้คนและการเลือกทำสิ่งต่างๆ ของผู้คน สินค้า สิ่งของต่างๆ และบริการ มีความหมายและมีค่าขึ้นมาได้ จากการกระทำและการตัดสินใจของผู้คน
การกระทำนั้นคือการที่เปลี่ยนความตั้งใจให้เป็นการดำเนินการ เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายหรือสถานะที่พึงพอใจมากขึ้น โดยเป็นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง
มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่นๆ ด้วยการกระทำที่มีเหตุผล สามารถจดจำความสัมพันธ์และสาเหตุของผลลัพธ์รอบตัว และเข้าใจในเหตุผลของผู้อื่น มนุษย์สามารถควบคุมสัญชาตญาณ อารมณ์ และความปรารถนาของตนเองได้ แม้ว่าการมีเหตุผลไม่จำเป็นต้องหมายความว่ามันจะถูกต้องเสมอไป ไม่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมหรือจะไม่เสียใจในภายหลัง การมีเหตุผลหมายถึงการไม่ทำตามสัญชาตญาณที่ไม่สามารถควบคุมได้
เศรษฐศาสตร์ออสเตรียนเน้นการทำความเข้าใจในเหตุและผลของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ใช้การทดลองทางความคิดและสามัญสำนึก แตกต่างจากสายหลักที่ใช้การวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ ซึ่งอาจไม่มีความหมายหากไม่เข้าใจในเหตุผลของมนุษย์ เราไม่สามารถใช้สมการเดียวกันกับฟิสิกส์หรืออะตอมได้ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่มีความคิดหรือการกระทำเหมือนมนุษย์
วิธีคิดที่แตกต่างของเศรษฐศาสตร์สายหลักและออสเตรียน ตัวอย่างเช่น ในสายหลัก นักการเมืองอาจสัญญาว่าจะกำหนดเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำ แล้วคำนวณออกมาเป็นตัวเลขว่าคนมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ และเกิดการบริโภคเพิ่มเท่าไหร่
แต่ในทางออสเตรียนแล้ว ค่าแรงขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง นายจ้างต้องพิจารณาถึงงานที่ได้ ผลผลิตของบริษัท ลูกจ้างต้องเปรียบเทียบค่าแรงกับเวลาที่เสียไปกับการทำงานอื่นๆ การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำอาจทำให้การจ้างงานลดลง เพราะนายจ้างอาจพิจารณาว่าไม่คุ้มค่ากับผลผลิตที่ได้ นำไปสู่การเลิกจ้างหรือปิดกิจการ นี่คือจุดที่ต่างกัน
Chapter 2 - Value
คุณค่า (Value) ของสิ่งต่างๆ นั้นเกิดจากการตัดสินใจของผู้คน ว่าสิ่งนั้นช่วยให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นมากน้อยเพียงใด หากไม่มีความคิดเห็นของผู้คน คุณค่าของสิ่งนั้นก็จะหายไป กลายเป็นวัตถุสิ่งของธรรมดาชิ้นหนึ่ง
สินค้า (Goods) หมายถึงสิ่งที่มีประโยชน์ต่อผู้คน และทำให้ผู้คนที่ได้รับหรือครอบครองพอใจ หรือเชื่อมโยงไปถึงความพึงพอใจในอนาคต
อรรถประโยชน์ (Utility): คือความสามารถของสินค้าที่จะทำให้ผู้คนพอใจ โดยขึ้นอยู่กับความเข้าใจในการเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับสิ่งที่เติมเต็มในชีวิต สินค้าจะมีประโยชน์กับผู้คนเมื่อมันเป็นที่ต้องการ ถ้าไม่มีใครต้องการมันจะเป็นเพียงแค่วัตถุสิ่งของ
ความขาดแคลน (Scarcity): เกิดขึ้นเมื่อความต้องการสินค้าสูงกว่าจำนวนที่ผลิตได้ ซึ่งความขาดแคลนนี้เองทำให้เกิดศาสตร์ของเศรษฐศาสตร์ สินค้าบางชนิดมีประโยชน์กับผู้คนแต่ไม่ขาดแคลน เช่น อากาศ
เศรษฐศาสตร์ (Economics): ศาสตร์ที่ศึกษาการตัดสินใจของผู้คนในสภาวะที่มีความขาดแคลน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้ผู้คนต้องตัดสินใจในการกระทำต่างๆตลอดเวลา
คุณค่า (Value): คือความพึงพอใจที่ได้รับหรือคาดหวังที่จะได้รับจากสินค้า คนแต่ละคนมีการตัดสินคุณค่าไม่เหมือนกัน ตามความสำคัญของสินค้าชิ้นนั้น ต่อชีวิตคนคนนั้น
คุณค่าเชิงสัมพัทธ์ (Subjective Value): คุณค่าของสินค้าไม่เหมือนกันสำหรับทุกคน และคุณค่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล ซึ่งขึ้นอยู่กับการประเมินของแต่ละบุคคล ถ้าไม่มีคนแล้วก็ไม่มีคุณค่าใดๆ
คุณค่า ความพึงพอใจ ไม่มีหน่วยวัด มันวัดไม่ได้ ขึ้นอยู่กับความคิดแต่ละคน และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา
คุณค่ากับราคาไม่เหมือนกัน ราคาขายเป็นผลจากการเห็นคุณค่าของสินค้าที่แตกต่างกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย คนขายเห็นคุณค่าของสินค้านั้นน้อยกว่าราคาขาย คนซื้อเห็นคุณค่าของสินค้านั้นมากกว่าราคาขาย มันถึงจะเกิดการซื้อขาย ถ้าทุกคนให้คุณค่าสินค้าเท่ากันจะไม่เกิดการซื้อขายขึ้น
คุณค่าไม่ได้เกิดจากการลงแรงทำงานเสมอไป การลงแรงทำงานในสิ่งที่คนไม่ได้ต้องการก็ไม่ได้ทำให้สินค้ามีคุณค่าขึ้นมาได้ มันไม่ได้เป็นตามหลักของ Marxist แต่มันขึ้นอยู่กับว่าสินค้าตอบสนองความต้องการได้มากแค่ไหน
Marginal: เมื่อเรามีสินค้ามากกว่าปริมาณหนึ่ง คุณค่าของสินค้าชนิดเดียวกันชิ้นถัดๆไปที่มีต่อเราจะค่อยๆลดลง ยกเว้นสินค้าประเภทเงินหรือทุน
Water-Diamond Paradox: น้ำสำคัญกับการมีชีวิตอยู่ เพชรไม่สำคัญ แต่ในสถานการณ์ปกติ เพชรมีราคาแพงกว่าน้ำ เพราะเรามีน้ำเพียงพอในความต้องการของเรา น้ำที่เกินความต้องการเราจึงมีราคาถูก กลับกันถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ได้ดื่มน้ำมาหลายวัน น้ำแก้วแรกจะมีราคาแพงกว่าเพชร
** ต่อ chapter 3 ในตอนหน้าครับ